Tuesday, 30 April 2024
กภ.คณิต คล้ายแจ้ง

รู้จัก ‘PM2.5’ ฝุ่นจิ๋วสุดอันตราย บ่อเกิดสารพัดโรคร้าย พร้อมรู้แนวทางรับมือ-ดูแลตัวเอง ให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษ


ช่วงนี้เรื่องฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาเป็นหัวข้อที่คนเริ่มพูดถึงกันอีกครั้ง เนื่องจากผู้คนสมัยใหม่เน้นดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบตา ระบบผิวหนัง นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตจากภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมองอีกด้วย 

ฝุ่นละอองขนาดขนาดเล็ก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ 

1. ฝุ่นละเอียด เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละเอียดเกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะและผลผลิตทางการเกษตร กระบวนการผลิตในโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรม ควันที่เกิดจากหุงต้มอาหาร นอกจากนี้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOX) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จะทำปฏิกิริยากับสารอื่นในอากาศทำให้เกิดเป็นฝุ่นละเอียดได้

2. ฝุ่นหยาบ เป็นอนุภาคที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-10 ไมครอน (PM10) เกิดจากการจราจร, การขนส่งหรือฝุ่นจากการบดย่อยหิน

ปัจจุบันพบว่าหลายพื้นที่มีฝุ่นละเอียด (PM2.5) เกินระดับมาตรฐาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพอากาศและความกดอากาศ ทำให้การลอยตัวและการกระจายตัวของฝุ่นละเอียดอยู่ในระดับต่ำ การไหลเวียนและถ่ายเทอากาศไม่ดี จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละเอียดเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับควันไอเสียรถยนต์และรถบรรทุกในที่มีการจราจรหนาแน่นหรือเขตอุตสาหกรรม รวมทั้งการเผาป่าหรือการเผาพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกในฤดูกาลต่อไป

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 0 - 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-คุณภาพอากาศดีมาก

-สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งได้

 

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 26 - 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-มีผลกระทบต่อสุขภาพเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ, หญิงตั้งครรภ์, เด็กเล็กหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว)

-ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกําลังกายกลางแจ้ง เช่น ปั่นจักรยานหรือวิ่ง

-เฝ้าระวังปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น เช่น หายใจลําบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด   แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าหรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์

 

>> ดัชนีคุณภาพอากาศ 38 - 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

-มีผลกระทบต่อสุขภาพปานกลางโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง

-ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้านหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง

-เมื่อต้องออกนอกบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM2.5

-หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติหรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบพบแพทย์

-ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาประจำตัวให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

ชาวออฟฟิศควรรู้!! 3 ท่าโยคะง่ายๆ ทำได้ระหว่างวัน ใช้เวลาน้อย - ลดอาการ ‘ปวดเมื่อย’

เนื่องจากช่วงนี้ได้มีการประกาศการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) แล้ว ส่งผลให้หลายออฟฟิศประกาศยกเลิกการอนุญาตให้ทำงานจากที่บ้าน (work from home) และกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันตามปกติ

ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมสภาพร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอีกครั้ง วันนี้จึงขอเสนอการทำ ‘Office yoga’ หรือโยคะง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในที่ทำงาน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดอาการปวดเมื่อยที่เกิดจากการทำงานนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบทได้

Office yoga หรือโยคะง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในที่ทำงาน สามารถทำได้ทุกเวลาและใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เช่น เวลาพักเที่ยง หรือ ช่วงเวลาว่างก่อนเข้าประชุม นอกจากช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อแล้วยังช่วยให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานอย่างเป็นปกติด้วย เช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ส่วนท่าโยคะที่ควรใช้นั้นจะมีท่าแบบไหนบ้าง มาดูกัน…

1.) ท่าพรหมมุทรา (ท่าหมุนคอ) ช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อรอบคอและบ่า สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
(1) ขณะนั่งเก้าอี้ หลังพิงพนักด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย
(2) หมุนคอ หันศีรษะไปทางซ้ายช้าๆ จนกระทั่งคางอยู่เหนือไหล่ซ้ายจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(3) หมุนคอ หันศีรษะไปทางขวาช้าๆ จนกระทั่งคางอยู่เหนือไหล่ขวาจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(4) เงยศีรษะขึ้น ยกคางขึ้นจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(5) ก้มศีรษะลง ให้คางจรดที่ทรวงอกจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมคืนศีรษะกลับมาที่ท่าเริ่มต้น
(6) ทำซ้ำประมาณ 3-5 รอบ ห้ามยกไหล่ขณะทำและระวังอย่าให้เกิดความเจ็บปวด
  

2.) ท่าวฤกษ์ชาซัน (ท่าต้นไม้) ช่วยฝึกการทรงท่าของกล้ามเนื้อแนวกลางลำตัวและกระตุ้นกล้ามเนื้อขา สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
(1) ในท่ายืนตรงและถอดรองเท้า
(2) ยกเท้าขวาขึ้นยันกับต้นขาด้านในข้างซ้ายให้แนบชิดมากที่สุด
(3) พยายามทรงตัวให้มั่นคงด้วยการยืนบนขาข้างเดียว 
(4) พนมมือทั้ง 2 ข้างไว้ที่หน้าอก หายใจเข้าและหายใจออก 3-5 ครั้ง ลดขาและวางมือลง
(5) เปลี่ยนสลับทำอีกข้างอย่างช้าๆ
(6) หากทรงตัวไม่มั่นคงให้ใช้มือข้างหนึ่งจับที่โต๊ะหรือเก้าอี้ได้

3.) ท่าภาวตะซัน (ท่าภูเขา) ช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อคอ, ไหล่และกล้ามเนื้อที่มีส่วนช่วยการหายใจ สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
(1) ขณะนั่งเก้าอี้ หลังพิงพนักด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย
(2) ยกมือทั้ง 2 ขึ้นพนมมือเหนือศีรษะ 
(3) หายใจเข้าช้าๆ พร้อมกับเหยียดแขนขึ้นให้สุดจนรู้สึกตึงมากที่สุด กลั้นหายใจสักครู่แล้วหายใจออกช้าๆพร้อมลดแขนลงวางไว้เหนือศีรษะในท่าเริ่มต้น
(4) ทำซ้ำประมาณ 3-5 รอบ ห้ามยกไหล่ขณะทำและระวังอย่าให้เกิดความเจ็บปวด

สิ่งสำคัญของการทำ Office yoga หรือโยคะง่ายๆ ที่สามารถทำได้ในที่ทำงานคือ ห้ามกลั้นหายใจ ขณะทำ ควรหายใจลึกๆ ช้าๆ ให้เป็นจังหวะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหว และหากเกิดความเจ็บปวดมากขึ้นให้หยุดทำทันที 

เช็กลิสต์ 15 ข้อ ประเมินภาวะหมดไฟจากการทำงาน พร้อมรู้ 'สาเหตุ-วิธีแก้ไข' ก่อน ‘ร่างกาย-จิตใจ’ ย่ำแย่

ปัจจุบันวัยรุ่นและวัยทำงานมีความตระหนักเรื่องสุขภาพทางร่างกายมากขึ้น สังเกตจากแนวทางการใช้ชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น การรับประทานอาหารคลีน การรับประทานอาหารเสริม การออกกำลังกายในฟิตเนส เป็นต้น แต่ในทางกลับกันปัญหาสุขภาพทางจิตใจกลับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลคุกคามต่อคุณภาพชีวิตของวัยรุ่นและวัยทำงาน

ภาวะหมดไฟจากการทำงาน หรือ Burn Out เป็นภาวะของสภาพจิตใจและความรู้สึกเบื่อหน่ายการทำงานโดยไม่รู้สาเหตุ เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ไม่อยากทำงานกับเพื่อนร่วมงาน รู้สึกว่างานล้นมือ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน และเฝ้ารอถึงเวลาเลิกงานหรือวันหยุดเพื่อจะได้กลับบ้าน บางคนจะงีบหลับต่อหน้าผู้ร่วมงาน

นอกจากนี้อาจมีสัญญาณความผิดปกติทางร่างกายร่วมด้วย ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำลง นอนไม่หลับ อันเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมาได้ 

สำหรับสัญญาณความผิดปกติทางอารมณ์ ได้แก่ รู้สึกล้มเหลว สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย กังวลใจทุกครั้งที่ต้องไปทำงาน รู้สึกโดดเดี่ยว ขาดแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นในการทำงาน ขาดสมาธิและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกิดทัศนคติเชิงลบต่องานและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งสัญญาณความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น การขาดความรับผิดชอบต่องาน เกี่ยงงาน การปลีกตัวออกจากสังคม รวมทั้งอาจมีการรับประทานอาหารมากขึ้น มีการใช้ยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อปลอบประโลมตัวเองจากภาวะดังกล่าว

สาเหตุของภาวะหมดไฟจากการทำงาน
1.) ขาดอำนาจในการตัดสินใจในการทำงาน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะหมดไฟจากการทำงาน การไม่สามารถควบคุมงานที่รับผิดชอบได้ด้วยตนเอง เช่น ต้องรอการสั่งการ หรือต้องทำตามแนวทางที่ถูกกำหนดเท่านั้น
2.) เป้าหมายและขอบเขตในการทำงานไม่ชัดเจน
3.) ทำงานร่วมกับทีมงานหรือองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ
4.) งานหนักเกินไป
5.) ขาดการสนับสนุนจากหัวหน้า ผู้บังคับบัญชา หรือ องค์กร
6.) งานที่ทำไม่ได้รับการยอมรับ
7.) งานที่ทำเป็นงานลักษณะซ้ำๆ เหมือนเดิมในทุกวัน

แม้ว่าภาวะหมดไฟจากการทำงานจะไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์เหมือนโรคอื่นๆ แต่ก็สามารถประเมินได้เบื้องต้นด้วยการใช้แบบสอบถาม ‘Burnout Self-Test’ ที่พัฒนาขึ้นโดย Christina Maslach นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ซึ่งแบบสอบถามนี้มีคำถามทั้งหมด 15 ข้อ โดยแต่ละข้อมีคะแนนตั้งแต่ 1-5 คะแนน (1 คะแนน = ไม่มีเลย, 5 คะแนน = เกิดเป็นประจำ) เลือกให้คะแนนที่ตรงกับความรู้สึกมากที่สุด

แบบสอบถามการประเมินภาวะหมดไฟจากการทำงาน
1.) ฉันรู้สึกเหนื่อยล้า หมดพลัง ทั้งพลังทางกายและอารมณ์
2.) ฉันรู้สึกในทางลบกับงานในหน้าที่ที่ทำ
3.) ฉันรู้สึกเฉยเมยหรือเห็นอกเห็นใจกับผู้คนน้อยลงอย่างไม่สมเหตุผล
4.) ฉันรู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือหงุดหงิดกับเพื่อนร่วมงาน
5.) ฉันรู้สึกไม่เข้าใจผู้ร่วมงานหรือผู้ร่วมงานไม่ชื่นชอบ
6.) ฉันรู้สึกเหมือนไม่มีใครที่จะพูดคุยด้วย
7.) ฉันรู้สึกว่าประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
8.) ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ไม่พึงประสงค์ที่ทำให้งานไม่สำเร็จ
9.) ฉันรู้สึกว่ายังไม่ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการในการทำงาน
10.) ฉันรู้สึกว่าเลือกทำงานในองค์กรที่ผิดหรือเลือกอาชีพผิด
11.) ฉันรู้สึกผิดหวังกับบางส่วนของงานที่ทำหรือรับผิดชอบ
12.) ฉันรู้สึกว่าการเมืองในองค์กรหรือการทำงานที่มีขั้นตอนมาก ทำให้ไม่สามารถที่จะทำงานสำเร็จด้วยดี
13.) ฉันรู้สึกว่ามีหลายงานที่เกินขีดความสามารถของตนที่จะทำงานดังกล่าว
14.) ฉันรู้สึกว่าฉันไม่มีเวลาที่จะทำหลายๆ งานที่มีความสำคัญอย่างมีคุณภาพ
15.) ฉันรู้สึกว่าไม่มีเวลาที่มากพอในการวางแผนการทำงานที่อยากจะทำ

การแปลผลแบบสอบถามการประเมินภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 15-18 คะแนน : ไม่มีอาการของภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 19-32 คะแนน : มีอาการของภาวะหมดไฟจากการทำงานเล็กน้อย
>> 33-49 คะแนน : มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 50-59 คะแนน : มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะมีภาวะหมดไฟจากการทำงาน
>> 60-75 คะแนน : มีความเสี่ยงอย่างรุนแรงที่จะมีภาวะหมดไฟจากการทำงาน

‘LGBTQ+’ ตรวจสุขภาพเฉพาะทางได้ที่ไหนบ้าง มาดูกัน!!

เนื่องจากเดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็น Pride Month สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ซึ่งปัจจุบันมีการรณรงค์สนับสนุนความเท่าเทียมและความภาคภูมิใจในตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจร่างกายในภาวะที่ร่างกายเป็นปกติดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย โดยมีวัตถุประสงค์ในการค้นหาปัจจัยเสี่ยงและภาวะผิดปกติ เพื่อให้ทราบแนวทางป้องกันการเกิดโรคร้ายแรง ในทุกช่วงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ ซึ่งสามารถเลือกตรวจสุขภาพประจำปีกับโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้

>> การตรวจสุขภาพในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
มุ่งเน้นไปที่การตรวจร่างกายทั่วไป (ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง) เพื่อค้นหาความผิดปกติ ประเมิน การเจริญเติบโตตามวัย และเฝ้าระวังด้านพัฒนาการ รวมไปถึงการรับวัคซีนต่าง ๆ ตามกำหนดเวลา เพื่อป้องกันการเกิดโรค



>> การตรวจสุขภาพในกลุ่มวัยทำงาน
สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 - 60 ปี โดยการซักประวัติเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มที่ครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ประกอบกับการตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต เพื่อช่วยในการคัดกรองภาวะเสี่ยงของโรค ซึ่งควรตรวจร่างกายอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


 

- ตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
- ตรวจการได้ยินปีละ 1 ครั้ง
- แบบประเมินสภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะซึมเศร้า การใช้ยาและสารเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์ การติดนิโคตินในผู้สูบบุหรี่ เป็นต้น
- การตรวจตา สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดสายตาและตรวจคัดกรองโรคต้อหิน ภาวะความดันลูกตาสูง และความผิดปกติอื่นๆ โดยทีมจักษุแพทย์ อย่างน้อย 1 ครั้ง
- การถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest x-ray) โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก หรือมีอาการสงสัยว่าเป็นวัณโรคและมะเร็งปอด
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) ช่วยคัดกรองภาวะโลหิตจางหรือความผิดปกติอื่นของเม็ดเลือดหรือเกล็ดเลือด

มาดูแลผิวรับหน้าร้อนกันเถอะ

เมื่อถึงหน้าร้อนเป็นช่วงเวลาที่อุณหภูมิสูงขึ้น แสงแดดจัด ส่งผลให้ผิวหนังเกิดความระคายเคือง หน้ามันเยิ้ม ผิวไหม้แดด ฝ้า กระ ชัดขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอาจส่งผลให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ ความหมองคล้ำ ผิวเสื่อมสภาพตามมาได้

ตัวการที่ทำร้ายผิวประกอบด้วย แสงแดด, ความร้อน, มลภาวะ, ฝุ่น, ควัน, การใช้ชีวิต, อาหารการกิน ก็มีส่วนทำให้ผิวเสื่อมสภาพได้

💥ปัจจัยทำให้ผิวเสื่อมสภาพ
1.) ปัจจัยภายใน การเสื่อมตามธรรมชาติหรืออายุที่เพิ่มมากขึ้น
2.) ปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม
- รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากับแสงแดด
- แสงช่วงที่มองเห็นด้วยตาเปล่าโดยเฉพาะแสงสีฟ้า (Blue light) จากหน้าจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ
- รังสีอินฟราเรด เช่น ความร้อนจากการทำงาน, เครื่องยนต์ต่างๆ 
- มลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ทั้งควันบุหรี่ (PM10) และฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5) ล้วนส่งผลเสียให้ผิวหนังเสื่อมสภาพเร็วหรือแก่ก่อนวัยได้
- การใช้ชีวิต เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือด้านใด ผิวหน้าด้านนั้นจะมีฝ้าเข็มขึ้นกว่าอีกด้านหนึ่ง

นอกจากนี้ อนุมูลอิสระ (free radicals) ภายในชั้นผิวหนัง ยังทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้ผิวแพ้ง่าย, ผิวหนังอักเสบ, เส้นเลือดฝอยขยาย, เซลล์ผิวเสื่อมสภาพและตายเร็วขึ้น ทั้งยังลดการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน, เกิดการทำลายดีเอ็นเอ, อาจมีเนื้องอกหรือมะเร็งผิวหนังเกิดขึ้นได้

การเกิดริ้วรอยและความหย่อนยาน ผิวหยาบกร้าน ไม่สดใส เกิดจากชั้นหนังกำพร้าที่หนาตัวขึ้นและชั้นหนังแท้ที่บางลงจากการสูญเสียคอลลาเจนและอิลาสติน 

💥รังสีอัลตราไวโอเลต (UV)

รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากับแสงแดด ทำให้เซลล์ผิวหนังทำงานผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของผนังเซลล์ ไขมันและโปรตีนในเซลล์ เกิดภาวะผิวเสื่อมจากแสงแดด (Photo aging) รังสีอัลตราไวโอเลตจะทำลายดีเอ็นเอหรือยีนในเซลล์ผิวหนัง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังมากขึ้น

- ยูวีเอ (UVA) พบได้ทั้งกลางแจ้งและภายในอาคาร สามารถทะลุผ่านเสื้อผ้าและกระจกได้ ยูวีเอจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระในเซลล์ชั้นหนังแท้ ทำลายคอลลาเจน, อิลาสตินและดีเอ็นเอ ส่งผลเสียต่อระบบภูมิต้านทาน เป็นสาเหตุของผิวแก่ก่อนวัย ริ้วรอยและมะเร็งผิวหนัง

- ยูวีบี (UVB) แม้จะไม่สามารถทะลุผ่านกระจกได้ แต่จะถูกดูดซับโดยดีเอ็นเอในเซลล์หนังกำพร้าหรือรอยต่อระหว่างชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ ทำให้เกิดผิวไหม้แดด (Sun burn) มีการสร้างเม็ดสีส่วนเกินและมะเร็งผิวหนัง

- ยูวีซี (UVC) มักพบในประเทศที่มีภาวะเรือนกระจก เช่น ประเทศออสเตรเลีย พบผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังมากที่สุดในโลก

💥แสงสีฟ้า (Blue light)

แสงสีฟ้าเป็นแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่าและมีช่วงความยาวคลื่นใกล้เคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ดังนั้นจึงสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เช่น การทำลายเลนส์แก้วตา ผิวหมองคล้ำ สีผิวไม่สม่ำเสมอเช่นเดียวกับภาวะผิวเสื่อมจากแสงแดด

แสงสีฟ้ามาจากหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ การได้รับแสงสีฟ้าต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดความเครียดที่ผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผิวหนังเสื่อม เกิดอนุมูลอิสระที่ผิวหนัง ส่งผลในการทำลายดีเอ็นเอ คอลลาเจน และอิลาสตินสลาย เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นและหย่อนยาน รวมทั้งกระ ฝ้า 

สังเกตว่ารอยดำจากสิวอักเสบและฝ้า มักจะหายช้าและมีสีเข้มขึ้นที่ด้านข้างใบหน้าโดยเฉพาะข้างที่สัมผัสกับโทรศัพท์มือถือ 

นอนหลับอย่างไรให้สุขภาพดี

ในแต่ละวันการนอนหลับใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของช่วงเวลาทั้งวัน ดังนั้นหากนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ฮอร์โมนต่างๆ ทำงานอย่างปกติและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในขณะที่นอนหลับสนิท ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth hormone) ออกมาเป็นจำนวนมาก

การนอนหลับบนที่นอนและหมอนที่เหมาะสมมีส่วนช่วยให้เกิดความผ่อนคลายและความสบาย ดังนั้นการเลือกที่นอนและหมอนที่ดีจึงมีความสำคัญและไม่ควรมองข้าม

✨ที่นอนที่ดีเป็นอย่างไร ?

ที่นอนที่ดีต้องรองรับน้ำหนักตัวได้อย่างเต็มที่ สามารถกระจายน้ำหนักตัวออกไปได้มากที่สุดจนร่างกายทุกส่วนรู้สึกผ่อนคลายและกล้ามเนื้อต่างๆ ทำงานน้อยที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อนตลอดการนอนหลับ        6-8 ชั่วโมง ในทางตรงข้ามหากนอนหลับบนที่นอนที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถรองรับและกระจายน้ำหนักตัวได้เต็มที่ กล้ามเนื้อบางมัดอาจอยู่ในท่าเกร็งหรือไม่ผ่อนคลาย ส่งผลให้ปวดเมื่อยร่างกายได้

1.) ที่นอนที่ดีต้องเรียบ ตึง และแน่น
อาจทำจากนุ่น ใยสังเคราะห์ สปริงหรือใยมะพร้าว โดยมีความยืดหยุ่นพอสมควร นอกจากนี้ต้องไม่มีส่วนนูนโค้งเพราะทำให้รับน้ำหนักไม่สม่ำเสมอและกล้ามเนื้อบางมัดต้องทำงานขณะนอนหลับ 

2.) ที่นอนที่ดีต้องไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป
ถ้าที่นอนนิ่มเกินไป ร่างกายจะจมลงไปในที่นอน ส่วนที่หนักจะถูกกดทับและรับน้ำหนักมากกว่าส่วนอื่น การกระจายน้ำหนักไม่ดี ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยได้ง่าย ส่วนที่นอนที่แข็งเกินไป อาจทำให้รู้สึกเจ็บบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ 

3.) ควรเลือกที่นอนที่เหมาะสมกับรูปร่างของตัวเอง
สำหรับคนรูปร่างผอมอาจเลือกที่นอนที่มีลักษณะนิ่มกว่าเพื่อรองรับปุ่มกระดูกต่างๆ ของร่างกาย ส่วนคนรูปร่างใหญ่อาจเลือกที่นอนที่มีความแข็งกว่า เพราะกล้ามเนื้อและไขมันจะช่วยรองรับและกระจายน้ำหนักตัวได้ แต่ถ้าคนรูปร่างใหญ่ใช้ที่นอนนิ่ม ส่วนของร่างกายจะจมลงไปในที่นอน ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว

นอกจากที่นอนที่ดีแล้ว อุปกรณ์ในการนอนที่มีความสำคัญเช่นกันก็คือ “หมอน” เพราะช่วยรองรับและกระจายน้ำหนัก โดยเฉพาะร่างกายช่วงคอบ่าไหล่

“ตะคริว” ตอนกลางคืน…ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบปัญหาการเป็นตะคริวตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก ทั้งนี้อาการ “ตะคริว” ยังเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพในร่างกายอีกด้วย

อาการ “ตะคริว” ที่ขาช่วงเวลากลางคืน เป็นการหดเกร็งเป็นก้อนแข็งของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นฉับพลัน มักเกิดความเจ็บปวดมากอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก่อนอาการจะทุเลาลง โดยมักจะเกิดกับกล้ามเนื้อด้านหลัง ต้นขา (Hamstrings) หรือ ด้านหลังน่อง (Calf) 

การเป็นตะคริวนี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ และอาจเกิดกับกล้ามเนื้อเพียงมัดเดียวหรือหลายๆ มัดพร้อมกันก็ได้ พบได้บ่อยในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงหญิงตั้งครรภ์

❤️ สาเหตุการเกิดตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) การนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น พนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งประชุมทั้งวันและไม่ได้ขยับร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดตะคริวที่ขาขณะนอนหลับได้ 
2.) ผู้ที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอย่างหนักที่ต้องใช้แรงขามาก เช่น การเล่นกีฬา หรือ ปีนเขา ทำให้กล้ามเนื้อขาทำงานหนัก เป็นปัจจัยนำไปสู่การหดเกร็งของกล้ามเนื้อขาและอาการตะคริวขณะนอนหลับ
3.) การนอนหลับในท่าเหยียดขาตรง ข้อเท้าและปลายเท้าชี้ลง ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อน่องอยู่ในท่า      หดสั้น อาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นตะคริวได้ง่าย
4.) อากาศเย็นหรือฤดูหนาวเป็นช่วงที่มีอาการตะคริวเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนระหว่างนอนหลับอุณหภูมิในร่างกายจะลดต่ำลง ทำให้ปวดมากขึ้น 
5.) การทำงานผิดปกติของเซลล์ประสาทและเส้นประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
6.) การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี 

❤️ ตะคริวตอนกลางคืน อาจเกี่ยวข้องกับภาวะต่างๆ ดังนี้ ❤️
- หญิงตั้งครรภ์อาจเป็นตะคริวได้บ่อย เนื่องจากระดับของแคลเซียมในเลือดต่ำหรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่กล้ามเนื้อขาไม่สะดวก
- ภาวะผิดปกติของต่อมไทรอยด์
- ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน
- โรคทางระบบประสาท เช่น โรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม (Motor neuron disease)
- ความผิดปกติของการเผาผลาญ เช่น โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน (Peripheral vascular disease)
- โครงสร้างร่างกาย เช่น เท้าแบน หรือโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal stenosis)
- การใช้ยาเพื่อรักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้ลดระดับคอเลสเตอรอล ยาขับปัสสาวะ และยาลดความดัน
- การดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ
- ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียม ได้แก่ ท้องเดิน อาเจียน เสียเหงื่อมาก ซึ่งอาจทำให้เป็นตะคริวรุนแรงได้
- ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ก็อาจเป็นตะคริวได้บ่อย
- กล้ามเนื้ออ่อนล้าหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง จากการใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการทำงานหนัก จะทำให้เกิดตะคริวได้บ่อย
- การได้รับบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ อาจเกิดจากการกระแทก ทำให้เกิดการฟกช้ำที่กล้ามเนื้อ
- กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น กล้ามเนื้อที่ตึงจะเกิดตะคริวได้บ่อย
- ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งหรือหลอดเลือดตีบตัน เช่น ผู้สูงอายุอาจเป็นตะคริวขณะที่เดินนานๆ เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไปที่ขาไม่ดี

❤️ การรักษาและการบรรเทาอาการตะคริวตอนกลางคืน ❤️
1.) หยุดพักการใช้กล้ามเนื้อที่เป็นตะคริวทันที
2.) ยืดกล้ามเนื้อน่อง โดยเหยียดขาให้ตรงแล้วค่อยๆ กระดกข้อเท้าขึ้นให้ปลายนิ้วเท้าเข้าหาตัวหรือหันหน้าเข้ากำแพง ยืนห่างจากกำแพงออกมาประมาณ 1 ก้าว แล้วก้าวขาข้างหนึ่งไปข้างหลัง พร้อมกับเอียงตัวไปข้างหน้า โดยวางส้นเท้าให้แบนราบไปกับพื้น ใช้มือดันกำแพงทั้ง 2 ข้าง จะรู้สึกตึงบริเวณน่อง ทำค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง โดยอาจประคบด้วยความร้อนบริเวณที่เป็นตะคริวเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

สุดยอด! ‘7 อาหารบำรุงหัวใจ’ ให้แข็งแรง ในเดือนแห่งความรัก!! 

เดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นเดือนแห่งความรัก มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผู้คนยิ้มแย้มมีความสุข เมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน สารแห่งความสุข (โดปามีน) จะถูกหลั่งออกมา ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ผิวพรรณเปล่งปลั่ง แก้มมีสีชมพู 

ในขณะเดียวกัน หัวใจเป็นอวัยวะที่ไม่มีช่วงเวลาหยุดพัก แม้แต่ขณะนอนหลับ หัวใจยังคงทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตลอดเวลา ดังนั้นควรดูแลหัวใจให้แข็งแรงและทำงานอย่างปกติ ด้วยการรับประทานสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ ดังนี้ 

1.) ปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล เป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมัน ไม่อิ่มตัวมีส่วนช่วยในการทำงานของหัวใจ ช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความดันโลหิต ลดการ จับตัวของลิ่มเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่าควรรับประทานปลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง

2.) ผัก 5 สี ประกอบด้วยกากใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์หลากหลายชนิด เช่น วิตามินเค ลูทีน เบตาแคโรทีน โฟเลท เป็นต้น ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ อีกทั้งทำให้ร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณสดใส ชะลอความแก่ชรา 
-  ผักที่มีสีเขียว เช่น กะหล่ำปลี, บรอกโคลี, คะน้า, หน่อไม้ฝรั่ง, ผักโขม, ถั่วลันเตา
-  ผักที่มีสีแดง เช่น มะเขือเทศ, พริกแดง, หอมแดง
-  ผักที่มีสีม่วง เช่น มะเขือม่วง, กะหล่ำปลีสีม่วง
-  ผักที่มีสีเหลืองและสีส้ม เช่น แคร์รอต, ฟักทอง, มันเทศ, มันฝรั่งหวาน, พริกเหลือง
-  ผักที่มีสีขาว เช่น ขิง, กระเทียม, ผักกาดขาว, หัวไชเท้า, ดอกกะหล่ำ, ดอกแค, เห็ด

3.) ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น บลูเบอร์รี, ราสป์เบอร์รี, แบล็คเคอร์แรนท์, แบล็กเบอร์รี, แครนเบอร์รี, มัลเบอร์รี, สตรอว์เบอร์รีหรือกูสเบอร์รี อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เบตาแคโรทีน ลูทีน วิตามินซี โฟเลท และใยอาหาร ถ้าได้รับประทานผลไม้ตระกูลเบอร์รีเป็นประจำสามารถช่วยลดความดันโลหิต และลดความเสี่ยงอาการหัวใจวาย 32 %

4.) ถั่วเปลือกแข็งชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วลิสง, อัลมอนด์, วอลนัต, ถั่วพิสตาชิโอ, เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ประกอบด้วยไขมันไม่อิ่มตัวและสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำแนะนำว่าควรรับประทานถั่วปริมาณ 1 กำมือ สัปดาห์ละ 4 ครั้ง โดยหลีกเลี่ยงการทอดด้วยน้ำมันและไม่โรยเกลือ จะมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดจนเป็นอันตรายถึงชีวิต

5.) ชาเขียว อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล ช่วยลดการอักเสบ, คอเลสเตอรอล, ไขมันชนิดไม่ดี, ไตรกลีเซอไรด์และระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ที่ดื่มชาเขียวชนิดไม่เติมน้ำตาล 1-2 แก้วต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด

‘อ้วน’ ไม่หนักหัวใคร…แต่เสี่ยงภัยโควิด!!

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่มักจะมี “โรคอ้วน” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีรายงานว่า คนอ้วนมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 113 นอกจากนี้คนอ้วนยังมีอัตราการเข้ารับการรักษาใน ICU สูงกว่าคนผอมถึงร้อยละ 74 และคนอ้วนพบอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 48

ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถิติชี้ว่าประเทศไทยมีประชากรที่เป็น “โรคอ้วน” เป็นอันดับสอง รองจากประเทศมาเลเซีย โดยในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนประชากรคนอ้วนสูงถึงร้อยละ 35 คิดเป็นเพศหญิงร้อยละ 38 และเพศชายร้อยละ 31 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเด็กและวัยรุ่นไทยเป็นโรคอ้วน เพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม อายุ ฮอร์โมน โรคประจำตัวและยาที่รับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การ work from home เป็นระยะเวลานาน พฤติกรรม การรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ความเครียด การนอนหลับ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ ประสบการณ์ และสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

>> โรคอ้วน หรือ ภาวะน้ำหนักเกิน คืออะไร?
ภาวะที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ากำหนดเมื่อเปรียบเทียบกับความสูง โดยการคำนวณ ดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) โดยนำน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยความสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร2) เช่น น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ความสูง 165 เซนติเมตร จะได้ BMI = 65 / (1.65 x 1.65) = 23.9 kg/m2 

โดยค่า BMI ปกติอยู่ระหว่าง 18.5-24.9 kg/m2 หาก BMI น้อยกว่า 18.5 kg/m2 ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ หาก BMI ระหว่าง 25-29.9 kg/m2 ถือว่าน้ำหนักเกิน แต่หาก BMI มากกว่า 30 kg/m2 ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคอ้วน

นอกจากนี้การวัดเส้นรอบเอว (ระดับสะดือ) สามารถประเมินภาวะอ้วนลงพุงหรือความเสี่ยงต่อไขมันในช่องท้องมากเกินไป โดยเพศชายควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และเพศหญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร หากเส้นรอบเอวมากเกินกว่าค่าดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ สูงขึ้นเช่นกัน

>> โรคอ้วนกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง ไขมันภายในช่องท้องจะดันกล้ามเนื้อกะบังลมขึ้นไปในทรวงอกมากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อกะบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาตรของอากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง กล้ามเนื้อหายใจต้องออกแรงเพิ่มมากขึ้น การแลกเปลี่ยนของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง หลอดลมตีบแคบ ถุงลมของปอดส่วนล่างอาจแฟบ เกิดภาวะออกซิเจนต่ำโดยเฉพาะเวลานอนหงาย

นอกจากนี้ไขมันยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลงและมีการอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น เมื่อคนอ้วนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวในระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น พบการทำลายของเนื้อปอดมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เนื่องจากความจุของปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจลดลง เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ 

สู้ภัยโควิด!! หนาวนี้ มีสุขภาพดีได้อย่างไร?

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากมวลอากาศเย็นพัดผ่านลงมาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้อากาศหนาวเย็นลง โดยจะหนาวเย็นมากที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากภัยหนาว ร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง 

ในทางการแพทย์ได้นิยามคำว่า “ภัยหนาว” ว่าเป็นภัยที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บจากอุณหภูมิ ในสิ่งแวดล้อมที่ลดลงต่ำกว่าปกติมากเป็นเวลานาน ๆ โดยอาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ความเร็วลม ความชื้น การออกกำลังกายหนักเกินไป การใช้ยาเสพติด และการดื่มสุรา โดยเฉพาะความเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอันตรายจากภัยหนาวเพิ่มมากขึ้น

โรคที่มากับภัยหนาว มีดังนี้

1.) โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 
ปัจจุบันพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ในหลายจังหวัด หากเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่อาจทำให้แยกอาการจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ได้ยาก เนื่องจากไข้หวัดใหญ่มีการแพร่ระบาดง่ายในฤดูนี้และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ดังนั้น การเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด และไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น จะช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) และโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้

2.) โรคติดต่อระบบทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง) 
มีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย ดื่มน้ำสะอาด และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด

3.) โรคหัด
โรคหัดติดต่อได้ทางลมหายใจ เกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสจากการไอจามของผู้ป่วย หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ อาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา มีไข้สูง ตาแดงและตาแฉะ มีผื่นนูนแดงขึ้นติดกันเป็นปื้น ๆ โดยมักพบการระบาดในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-มกราคม) มีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน ปัจจุบันไม่มียารักษา

4.) ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว)
ส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายปรับตัวไม่ทันต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ดังนั้นควรเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาว และงดการดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

5.) ปัญหาทางระบบผิวหนัง เช่น ผิวหนังแห้ง ผื่นผิวหนังอักเสบและคัน
ในฤดูหนาว อากาศแห้ง และมีความชื้นในอากาศน้อย หากอาบน้ำอุ่นจัดจะชะล้างไขมันที่ผิวหนังออกไป ส่งผลให้ผิวหนังแห้งและคันได้ ดังนั้นควรใส่เสื้อผ้าหนา ๆ ไม่อาบน้ำนาน ๆ ควรทาโลชันหรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำ และเช็ดตัวหมาด ๆ ทุกครั้งเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายควรใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทที่ใช้กับผิวเด็กอ่อนและควรทาวันละหลายครั้ง เพราะสารเคลือบผิวจะหลุดออกได้เมื่อเวลาผ่านไป ในกรณีที่มีปัญหาริมฝีปากแตก ไม่ควรเลียริมฝีปาก แนะนำให้ทาด้วยลิปสติกมันบ่อย ๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top